รู้ไว้! “ยาสามัญประจำบ้าน” ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง?

เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วสำหรับใครที่มีบ้าน ก็จะต้องทำให้ภายในบ้านนั้นมีความปลอดภัย

หรือใส่ตัวช่วยป้องกันความอันตรายที่อาจเกิดขึ้นภายในบ้าน นอกเหนือจากเรื่องอุบัติเหตุแล้ว เรื่องโรคภัยไข้เจ็บและอาการบาดเจ็บก็นับว่าเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้เสมอกับคนที่อาศัยอยู่ในชายคาเดียวกัน ฉะนั้น สิ่งที่เจ้าบ้านจะต้องให้ความสำคัญ คือ การมี “ยาสามัญประจำบ้าน” ติดเอาไว้เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น ก่อนที่จะนำส่งไปยังผู้เชี่ยวชาญช่วยบรรเทาสิ่งที่เกิดขึ้นอีกครั้ง วันนี้ Sanook! Health เลยเอาเรื่องราวเกี่ยวกับยาสามัญที่ทุกๆ บ้านควรมี พร้อมกับเนื้อหาที่ต้องรู้เกี่ยวกับยาแต่ละประเภทว่าเป็นอย่างไร และมีอะไรบ้าง

ยาสามัญประจำบ้าน คืออะไร ?
ยาสามัญประจำบ้าน คือ ตัวยาที่กระทรวงสาธารณะสุขได้พิจารณาเอาไว้ว่าเป็นยาอันเหมาะสมที่ประชาชนควรซื้อมาไว้ประจำบ้านของตนเอง เพื่อจะเป็นประโยชน์ในการใช้ดูแลตัวเองจากอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน ซึ่งยาสามัญประจำบ้านนั้นเป็นยาที่มีความปลอดภัยสูง แต่ต้องมาควบคู่กับการใช้งานที่ถูกต้องก็จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ ต่อร่างกาย อีกทั้ง ยาสามัญประจำบ้านยังเป็นยาที่มีราคาถูกที่ประชาชนทั่วไปสามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยา ไปจนถึงร้านขายของชำทั่วไป โดยยาสามัญประจำบ้านที่ถูกระบุไว้มีทั้งหมด 53 ชนิด นำมาใช้รักษาโรคสามัญได้ทั้งหมด 16 กลุ่ม มีดังต่อไปนี้

1. กลุ่มยาบรรเทาปวดลดไข้ ประกอบไปด้วย

ยาเม็ดสำหรับบรรเทาอาการปวดและลดไข้ แอสไพริน
ยาเม็ดและยาน้ำสำหรับบรรเทาอาการปวดลดไข้ พาราเซตามอล โดยยาเม็ดจะมีขนาด 500 มก. และขนาด 325 มก.
พลาสเตอร์ช่วยบรรเทาอาการปวด
2. กลุ่มยาแก้แพ้ ลดน้ำมูก ประกอบไปด้วย

ยาเม็ดแก้แพ้ลดน้ำมูก คลอร์เฟนิรามีน
3. กลุ่มยาแก้ไอ ขับเสมหะ ประกอบไปด้วย

ยาน้ำแก้ไอ ยาขับเสมหะสำหรับเด็ก
ยาแก้ไอน้ำดำ
4. กลุ่มยาดม หรือยาทาแก้วิงเวียน หน้ามืด คัดจมูก ประกอบไปด้วย

ยาดมแก้วิงเวียน เหล้าแอมโมเนียหอม
ยาดมแก้วิงเวียน และแก้คัดจมูก
ยาทาระเหย บรรเทาอาการคัดจมูกชนิดขี้ผึ้ง
5. กลุ่มยาแก้เมารถ เมาเรือ ประกอบไปด้วย

ยาแก้เมารถ ยาแก้เมาเรือ ไดเมนไฮดริเนท
6. กลุ่มยาสำหรับโรคปาก และลำคอ ประกอบไปด้วย

ยากวาดคอ
ยารักษาลิ้นเป็นฝ้า เยนเชี่ยนไวโอเลต
ยาแก้ปวดฟัน
ยาดมบรรเทาอาการระคายคอ
7. กลุ่มยาแก้ปวดท้อง ท้องอืด ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ ประกอบไปด้วย

ยาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ยาธาตุน้ำแดง
ยาเม็ดแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ โซดามิ้นท์
ยาขับลม
ยาน้ำแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ โซเดียมไบคาร์บอเนต
ยาทาแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ทิงเจอร์มหาหิงค์
ยาเม็ดลดกรดอะลูมินา – แมกนิเซียม
8. กลุ่มยาแก้ท้องเสีย ประกอบไปด้วย

ยาแก้ท้องเสีย ผงน้ำตาลเกลือแร่
9. กลุ่มยาระบาย ประกอบไปด้วย

ยาระบายกลีเซอรีน ชนิดเหน็บทวารหนักสำหรับเด็ก
ยาระบายกลีเซอรีน ชนิดเหน็บทวารสำหรับผู้ใหญ่
ยาระบายแมกนีเซีย
ยาระบายมะขามแขก
ยาระบายโซเดียมคลอไรด์ ชนิดสวนทวาร
10. กลุ่มยาถ่ายพยาธิลำไส้ ประกอบไปด้วย

ยาถ่ายพยาธิตัวกลม อย่าง เบนดาโซล ใช้ถ่ายพยาธิตัวกลม
11. กลุ่มยาบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ แมลงกัดต่อย ประกอบไปด้วย

ยาหม่องชนิดขี้ผึ้ง
12. กลุ่มยาสำหรับโรคตา ประกอบไปด้วย

ยาหยอดตา ซัลฟาเซตาไมด์
ยาล้างตา

13. กลุ่มยาสำหรับโรคผิวหนัง ประกอบไปด้วย

ยารักษาหิดเหา เบนซิล เบนโซเอต
ยารักษาหิด ขี้ผึ้งกำมะถัน
ยารักษากลากเกลื้อน น้ำกัดเท้า
ยารักษาโรคผิวหนังเรื้อรัง
ยาทาแก้ผดผื่นคัน คาลาไมน์
ยารักษาเกลื้อน โซเดียมไทโอซัลเฟต
14. กลุ่มยารักษาแผลติดเชื้อไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ประกอบไปด้วย

ยารักษาแผลน้ำร้อนลวกฟีนอล
ยารักษาแผลติดเชื้อซิลเวอร์ ซัลฟาไดอาซีน ครีม
15. กลุ่มยารักษาแผลติดเชื้อไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ประกอบไปด้วย

ยาไส่แผล ทิงเจอร์ไอโอดีน
ยาใส่แผล ทิงเจอร์ไทเมอรอซอล
ยาใส่แผล โพวิโดน ไอโอดีน
ยาไอโซโบรฟิล แอลกอฮอล์
ยาเอทธิล แอลกอฮอล์
น้ำเกลือล้างแผล
16. กลุ่มยาบำรุงร่างกาย ประกอบไปด้วย

ยาเม็ดวิตามินบีรวม
ยาเม็ดวิตามินซี
ยาเม็ดบำรุงโลหิต เฟอร์รัส ซัลเฟต
ยาน้ำมันตับปลา ชนิดแคปซูล
ยาน้ำมันตับปลาชนิดน้ำ
ก่อนเลือกซื้อ “ยาสามัญประจำบ้าน” ต้องดูอะไรบ้าง ?

การออกไปเลือกซื้อยาสามัญประจำบ้าน เราจะต้องเลือกยาที่มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. โดยจะต้องมีเลขทะเบียนตำรับยาแสดงอยู่บนฉลากของยาตัวนั้นๆ อย่างชัดเจน เนื่องจากยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนนั้นถือได้ว่าเป็นยาที่ได้มาตรฐาน สามารถนำมาใช้รักษาโรค หรืออาการต่างๆ ได้ ต่อมาให้ดูเรื่อง วันหมดอายุ เพราะตัวยานั้นมีเวลาที่เสื่อมสภาพอยู่ จึงไม่ควรซื้อยาที่ใกล้วันหมดอายุ หรือหมดอายุแล้วมารับประทาน เพราะอาจทำให้เกิดผลเสีย หรืออันตรายต่อร่างกายได้ อีกทั้ง ยาที่ดีจะต้องอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่มีสภาพดี ตัวยาต้องอยู่ครบสมบูรณ์ ยาเม็ดต้องไม่แตก สีเรียบ ไม่มีจุดแปลกปลอมบนตัวยา ส่วนยาน้ำต้องไม่มีการตกตะกอน แต่หากแขวนตะกอนเมื่อเขย่า ตะกอนนั้นต้องกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอ

ใช้ “ยาสามัญประจำบ้าน” อย่างไรให้ปลอดภัย ?
ต้องอ่านฉลากยาและเอกสารกำกับตัวยาให้เข้าใจก่อนใช้ยาทุกครั้ง จะได้ไม่เกิดความผิดพลาด
ควรใช้ยาให้ถูกต้องตามที่เอกสารกำกับยาได้ระบุไว้ ห้ามใช้ยาเกินขนาดโดยเด็ดขาด !
เลี่ยงการใช้ยาที่ผิดกับโรค เนื่องจากโรคบางอย่างต้องใช้ตัวยาในการรักษาที่ต่างชนิดกัน
เก็บ “ยาสามัญประจำบ้าน” อย่างไรให้ถูกต้อง ?
เมื่อเราซื้อยาสามัญประจำบ้านมาไว้ติดบ้านก็จะต้องมีตู้ยาสำหรับใส่ยาเหล่านี้โดยเฉพาะ จะได้เกิดความเรียบร้อยและสะดวกเมื่อหยิบใช้ อีกทั้งยังช่วยรักษาตัวยาให้มีอายุการใช้งานได้ตามกำหนด แนะนำให้ทำตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

ให้แยกยาออกเป็นประเภทต่างๆ อย่างชัดเจน ตัวยาไหนสำหรับรับประทาน ตัวยาไหนสำหรับใช้ภายนอก
ยาที่ดีจะต้องมีฉลากที่ระบุข้อมูลไว้อย่างถูกต้อง ชัดเจน ตัวหนังสือไม่จาง ไม่ขาดหาย
ต้องเก็บยาไว้ในที่ที่ไม่มีแสงแดด ไม่โดนความร้อน ไม่สัมผัสกับความชื้น หรืออยู่ใกล้กับเปลวไฟ
ไม่ควรเก็บยาชนิดอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องไว้ในตู้ยาสามัญประจำบ้าน เพราะอาจจะทำให้หยิบผิดได้
ต้องเก็บยาให้พ้นจากมือเด็ก

และนี่ก็คือประโยชน์และความสำคัญที่แต่ละบ้านจะต้องมี ยาสามัญประจำบ้าน ติดเอาไว้ป้องกันโรคและอาการบาดเจ็บเบื้องต้นที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา อีกทั้ง ยาสามัญต่างๆ เหล่านี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านทั่วไป แต่แนะนำว่าต้องศึกษาตัวยาและข้อมูลอื่นๆ ให้รอบด้านก่อนซื้อมาใช้ เพื่อจะได้เกิดประโยชน์ในการรักษาโรคได้อย่างปลอดภัย

สุขภาพ-ยาสามัญประจำบ้าน

อ่านข่าวเพิ่มเติม : เช็กเงื่อนไขบัตรทองใหม่ 30 บาทรักษาทุกที่ ดีเดย์ 1 ม.ค. 65