การทูตจีน : เมื่อ “นักรบหมาป่า” แถวหน้า ถูกย้ายมารับตำแหน่งใหม่

การทูตจีน : เมื่อ “นักรบหมาป่า” แถวหน้า ถูกย้ายมารับตำแหน่งใหม่

สื่อนานาชาติต่างให้ความสนใจต่อประกาศการย้ายนายจ้าว ลี่เจียน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ที่เป็นแถวหน้าของการทูตแบบ “นักรบหมาป่า” ไปรับตำแหน่งใหม่

การทูตจีน

เกิดคำถามว่าการโยกย้ายครั้งนี้จะส่งผลอย่างไรต่อวิธีการสื่อสารสาธารณะของรัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมามักตอบโต้ชาติตะวันตกที่วิจารณ์จีนแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน

ประกาศโยกย้ายออกมาเมื่อ 10 ม.ค. ให้นายจ้าวไปดำรงตำแหน่งรองอธิบดี กรมกิจการเขตแดนและมหาสมุทร ซึ่งไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการสื่อสารอีกเลย และก็มีความคลุมเครืออยู่ว่าเขาถูกย้ายไปเพราะเหตุใด และไม่ชัดเจนด้วยว่าเขาจะไปรับตำแหน่งใหม่นี้เมื่อไร

จ้าว ลี่เจียน เข้าทำงานกระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่ปี 1996 แล้วขึ้นดำรงตำแหน่งโฆษกกระทรวง เมื่อ ส.ค. 2019

เขาเป็นหนึ่งในหัวหอกของการทูตแบบเผชิญหน้าและตอบโต้ด้วยความแข็งกร้าว เขาเป็นผู้แถลงข่าวสำคัญ ๆ ที่แสดงท่าทีของจีนต่อเรื่องดังกล่างอย่างดุดัน เช่น การไปเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซีเมื่อสิงหาคมปีที่แล้ว

เขากล่าวว่า “หากสหรัฐยังดึงดันจะทำตามนั้น จีนจะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดอย่างแน่นอน เพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติและบูรณภาพแห่งดินแดนอย่างเต็มที่ สหรัฐจะต้องรับผิดชอบผลจากการกระทำทั้งหมดนี้”

ก่อนหน้านี้เขาดำรงตำแหน่งนักการทูตระดับกลางในปากีสถาน สิ่งหนึ่งที่เขาทำเป็นประจำในช่วงนั้นก็คือทวีตข้อความต่าง ๆ วิพากษ์วิจารณ์โลกตะวันตกโดยเฉพาะอเมริกาอย่างเผ็ดร้อนอยู่เสมอจนมีวิวาทะกับซูซาน ไรซ์ อดีตที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ในขณะนั้นเกี่ยวกับเรื่องการแบ่งแบกเชื้อชาติในวอชิงตัน

เมื่อเขาได้รับการตั้งให้รับตำแหน่งโฆษกกระทรวงปี 2019 ก็เหมือนกับว่าแนวทางแข็งกร้าวนี้ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลจีน

นิวยอร์กไทมส์ระบุว่า อิทธิพลของนายจ้าวนั้นแผ่ไปอย่างลึกซึ้งในบรรดานักการทูตจีนหลังจากที่เขาเข้ารับตำแหน่ง เขาสามารถเปลี่ยนแปลงวิธีที่จีนสื่อสารกับพันธมิตรและปรปักษ์ได้อย่างรวดเร็ว และเข้ามาแทนที่วาทะนักการทูตที่ไม่เผชิญหน้าตรง ๆ และใช้ศัพท์เฉพาะของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ลึกซึ้ง ซึ่งเป็นลักษณะถ้อยแถลงสาธารณะของประเทศมานานหลายทศวรรษ

จ้าวได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในหมู่ชาวจีนที่เล่นอินเทอร์เน็ต บัญชีเวยป๋อของเขามีผู้ติดตามเกือบ 8 ล้านคน

สิ่งที่เขาทวีตก็ที่สร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศอย่างมาก เช่น บอกว่าโควิดอาจจะเกิดในสหรัฐฯ และนำมายังจีนโดยนักกีฬาอเมริกัน ไม่กี่เดือนหลังจากนั้นก็โพสต์ภาพทหารออสเตรเลียที่ถือมีดเปื้อนเลือดฆ่าเด็กชาวอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นภาพปลอม และทำให้นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียออกมาประณาม

การย้ายนายจ้าวไปประจำตำแหน่งใหม่เกิดขึ้นพร้อมกับที่อดีตเอกอัครราชทูตจีนประจำสหรัฐฯ ฉิน กัง ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของจีน

เจแปนไทมส์ระบุว่านายฉิน วัย 56 ปี มีแนวโน้มจะดำเนินการทูตตามประเพณีเดิม ขับเคลื่อนด้วยสื่อสังคมน้อยลง น่าจะมีความปรารถนาที่จะแก้ไขความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐฯ และออสเตรเลีย ซึ่งมักตกเป็นเป้าหมายของการวิจารณ์ของนายจ้าวเสมอมา

ในระยะหลัง ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เองก็แสดงให้เห็นว่าอยากจะกลับมาผูกสัมพันธ์กับประเทศอื่น ๆ อย่างเช่น สหรัฐฯ รวมทั้งผู้นำของประเทศพันธมิตร ไม่ว่าจะเป็น นายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ ของญีปุ่น, นายกรัฐมนตรี โอลาฟ ชอลซ์ ของเยอมนี และ นายแอนโทนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย

อย่างไรก็ตาม ผู้สังเกตการณ์บางคนเตือนว่าอย่ามองว่าการโยกย้ายนายจ้าวสะท้อนว่าจีนกำลังถอยห่างจากการทูตแบบเผชิญหน้า

บิล บิชอป นักข่าวสหรัฐฯ เขียนในบล็อก Sinocism ว่าแนวทางดังกล่าวดูเหมือนจะเป็น “หลักการพื้นฐาน” ของรูปแบบการทูตของผู้นำสี จิ้นผิง และในขณะที่นายจ้าวเป็น “หนึ่งในกระบอกเสียงที่แข็งกร้าว” ก็ยังไม่มีหลักฐานใดที่บ่งชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง ส่วนผู้ใช้อินเตอร์เน็ตบางคนคาดเดาว่าการโพสต์ข้อความของภริยาของนายจ้าวบนโซเชียลมีเดียหลายครั้ง อาจเป็นสาเหตุของการโยกย้ายของเขา เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่สวมหน้ากากอนามัยในช่วงเวลาที่จีนอยู่ภายใต้มาตรการควบคุมโควิดอย่างเข้มงวด หรือการที่เธอโพสต์ภาพขณะเดินทางในเยอรมนี ทั้งที่ข้อจำกัดด้านการเดินทางยังคงมีผลบังคับใช้อยู่

อ่านทันโลกข่าวต่างประเทศที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่นี่ :สะท้าน! ศูนย์พยากรณ์เตือนหนาวนี้ยุโรปอุณหภูมิเย็นเยือกกว่าปกติ